อาหารอีกอย่างหนึ่งที่เด็ก ๆ ชอบกันมาก เด็กๆ อยากรู้ไหมเอ่ยว่าคืออะไร ครูใบ้ให้นิดนึงนะ อาหารนี้เป็นประเภทของหวานจ๊ะ และเมื่อรับประทานแล้ว จะเย็นชื่นใจ เอาหล่ะนึกออกรึยัง … ไอศกรีมไงล่ะ เพื่อให้ไอศกรีมมีคุณค่าต่อร่างกาย เราจะมาทำไอศกรีมกันเองจากสมุนไพรรอบตัวเรา เป็นของภายในหมู่บ้านของเรามีอยู่แล้ว ได้แก่ มะนาว มะขาม ตะไคร้ ใบเตย มะตูม มะม่วงหาวมะนาวโห่ เป็นต้น สมุนไพรเหล่านี้ ปราศจากสีสังเคราะห์ เป็นสีจากธรรมชาติ ช่วยปรุงแต่งอาหารให้มีรสอร่อย ตามต้องการ และที่สำคัญ ให้วิตามินหลากหลาย ที่ช่วยให้ร่างกายมีภูมิต้านทาน ป้องกันโรคมะเร็งได้อีกด้วย สำหรับมะม่วงหาวมะนาวโห่กำลังเป็นที่รู้จักในปัจจุบัน ได้มีการทดลองกันพอสมควร พบว่า ป้องกันไวรัส หวัด ลดน้ำมูก แก้เจ็บคอ แก้ไอ เป็นต้น เอาหล่ะ เราทราบสรรพคุณพอสมควร ต่อไปนี้เรามาเริ่มทำไอศกรีมสมุนไพรกันเถอะ ฤดูฝนประมาณเดือน พฤษภาคม และตุลาคม มีสมุนไพรมะม่วงหาวมะนาวโห่ที่น่าสนใจมาก จึงเลือกนำมาใช้ในการทำไอศกรีม
อุปกรณ์และสารเคมี
น้ำแข็ง หลอดทดลอง เกลือแกง บีกเกอร์หรือแก้วน้ำ
ช้อนตักสาร เทอร์มอมิเตอร์ (ต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส)
น้ำสมุนไพร เช่น มะม่วงหาวมะนาวโห่ น้ำมะนาว น้ำเก๊กฮวย น้ำตะไคร้ น้ำบัวบก ฯลฯ
วิธีการทดลอง
1. นำหลอดทดลองมา 1 หลอด ใส่น้ำสมุนไพรลงไปในหลอดทดลอง
2. นำหลอดทดลองในข้อ 1 ไปแช่ในบีกเกอร์ที่มีน้ำแข็งและน้ำอยู่ด้วย
3. โรยเกลือลงบนน้ำแข็งในบีกเกอร์ สังเกตและบันทึกผลการทดลอง (วัดอุณหภูมิก่อนและหลังการทดลอง)
คำถาม
1. เกิดอะไรขึ้นที่ผิวนอกของภาชนะ และภายในหลอดทดลอง
เห็นน้ำแข็งเกาะด้านผิวนอกภาชนะ เปรียบได้กับการเกิดหิมะ/แม่คะนิ้ง ส่วนภายในหลอดทดลองเกิดไอศกรีม
ถ้าใช้น้ำตาลแทนเกลือจะให้ผลอย่างไร ลองทำดูที่บ้านนะจ๊ะ แล้วมาเล่าสู่กันฟังชั่วโมงหน้า
เหตุผล
เนื่องจากเกลือแกงต้องการละลายตัวเอง จึงต้องใช้ความร้อนในการช่วยละลาย เกลือแกงจึงทำการดูดความร้อนจากรอบนอกหรือสิ่งแวดล้อมเข้าไป ทำให้อุณหภูมิรอบนอกบีกเกอร์ลดลงจนถึงจุดเยือกแข็ง น้ำสมุนไพรที่อยู่ในหลอดทดลองจึงกลายเป็นน้ำแข็ง เรียกว่าไอศกรีมสมุนไพร และเช่นเดียวกันรอบนอก บีกเกอร์จะเกิดน้ำแข็งเกาะที่ผิวด้วย เปรียบได้กับแบบจำลองการเกิดหิมะ
มะม่วงหาวมะนาวโห่
ชื่อสามัญ Bengal-Currants, Carandas-plum, Karanda
ชื่อวิทยาศาสตร์ Carissa carandas L. จัดอยู่ในวงศ์ตีนเป็ด (APOCYNACEAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยระย่อม (RAUVOLFIOIDEAE)
ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ หนามขี้แฮด (เชียงใหม่), หนามแดง (กรุงเทพฯ), มะนาวไม่รู้โห่ (ภาคกลาง), มะนาวโห่ (ภาคใต้)
ประโยชน์ของมะม่วงหาวมะนาวโห่
มะม่วงหาวมะนาวโห่ สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้แทบทุกส่วนของต้น ทั้งการรับประทานผลสดและนำไปประกอบอาหาร การใช้ประโยชน์จากใบและยอดอ่อนรวมถึงราก ลำต้น ใบและยาง สามารถแยกแยะประโยชน์ของมะม่วงหาวมะนาวโห่จากแต่ละส่วนได้ดังนี้
- ส่วนเนื้อไม้มีรสเฝื่อน บำรุงร่างกาย
- รากมีรสเฝื่อน เมา ช่วยขับพยาธิ บำรุงธาตุเจริญอาหาร
- ผล มีสารต้านอนุมูลอิสระ สามารถนำไปประกอบอาหารได้หลายชนิด เป็นผลดิบมีรสเปรี้ยว พอสุกมีรสค่อนข้างหวาน นำมารับประทานเป็นผลไม้ ลดอาการเจ็บคอได้ดีมาก แก้ไอ แก้หวัด ช่วยป้องกันไวรัส ช่วยต้านมะเร็ง และชลอความแก่ ช่วยให้ร่างกายสดชื่น กระชุ่มกระชวย รักษาและบรรเทาอาการถุงลมโป่งพอง มีธาตุเหล็กสูง ช่วยบำรุงเลือด บรรเทาอาการโรคเก๊า ไทรอยด์ และโรคตับ บรรเทาอาการมือเท้าชา โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต ฆ่าเชื้อและสมานแผล ขับปัสสาวะ มีวิตามินซีสูง ลดอาการเลือดออกตามไรฟัน ลดอาการปวดเมื่อยตามร่างกายและข้อ
- ใบและยอดอ่อน มีรสเฝื่อนเล็กน้อย ใช้จิ้มกินกับน้ำพริกและลาบ มีสรรพคุณแก้อาการท้องเสีย ลดอาการไข้ แก้เจ็บคอ รักษาแผลในปาก ช่วยไข้มาลาเรีย รักษาโรคบิด โรคลมชัก และรักษาริดสีดวงทวาร
แหล่งที่มา : พันธุ์ทิพย์ ทิมสุกใส มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา